Sunday, September 11, 2011

สูตร 5 เล็ก เพื่อชีวิตที่ยิ่งใหญ่ เขียนโดย อ.สาทิส อินทรกำแหง (ชีวจิต)


ตอนนี้กำลังพูดถึง “การออกกำลังกาย” กับฮอร์โมนหลายชนิดอยู่ ที่ว่าหลายชนิดนี้ หมายถึง ฮอร์โมนชนิดต่างๆที่จะหลั่งออกมาเพิ่มพลังพิเศษให้แก่ร่างกายโดยการออกกำลังกาย


ขอพูดถึงฮอร์โมนพิเศษอีกตัวหนึ่งซึ่งจะหลั่งออกมาก็ต่อเมื่อเราออกกำลังกายจนถึงจุดสูงสุดของการออกกำลังกาย เราเรียกว่า PEAK (อ่านว่า พีค)


การจะถึงจุด PEAK ของการออกกำลังกาย จะต้องมีอาการถึง 3 อย่างด้วยกัน คือ


1. หัวใจเต้นแรง

2. ลองจับชีพจรที่ข้อมือดูจะได้ 120-140 ครั้งต่อนาที

3. เหงื่อจะออกโทรมกาย


เมื่อได้จุดสูงสุดของการออกกำลังกายนี้ ฮอร์โมนพิเศษตัวหนึ่งจะถูกขับออกมา ชื่อว่า เอ็นโดฟิน(ENDORPHINS)
เอ็นโดฟินนี้บางคนชอบเรียกว่า “สารสุข” เพราะเมื่อฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมา จะรู้สึกว่าตัวเบา อารมณ์ดี มองดูอะไรมันก็สวยงาม รู้สึกมีความสุขร่าเริง


และว่ากันที่จริง เจ้าเอ็นโดฟินตัวนี้ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับหัวหน้าฮอร์โมนตัวใหญ่ คือ โกร็ธฮอร์โมน (GROWTH HORMONE) หรือที่เรียกย่อๆว่า GH. ซึ่งได้อธิบายไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว


และเจ้า GH. ตัวนี้ก็มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์อย่างมหาศาล ได้พูดไว้เมื่อตอนที่แล้วนะครับว่า GH. เป็นฮอร์โมนสำคัญตั้งแต่ตอนที่เราเกิดมา เราเจริญเติบโตจากเด็กอ่อนกลายเป็นเด็กโต จากเด็กโตกลายเป็นหนุ่มสาว และจากหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ก็เพราะมีฮอร์โมน GH. นี้เป็นตัวเร่งและตัวกำกับความเจริญเติบโตของเรา

แต่เมื่อเราเติบโตเต็มที่แล้ว ประมาณอายุ 20-25 หรือบางคนเติบโตเร็วก็ประมาณอายุ 18 ก็โตเต็มที่ก็มีเหมือนกัน ธรรมชาติก็จะคอยเป็นตัวควบคุมไม่ให้ร่างกายสูงและโตเกินปกติ GH. ก็จะเริ่มหลั่งน้อยลง


หรือบางคน ระบบฮอร์โมนผิดปกติ GH. ออกมาน้อยหรือบางทีอายุยังไม่ถึง 30 GH. ก็แทบจะไม่หลั่งเลย ก็จะเห็นความผิดปกติซึ่งชี้ให้เห็นว่า สุขภาพประจำตัวใช้ไม่ได้


ลักษณะเช่นนี้จะเห็นได้ชัดตรงรูปร่างหน้าตา ผิวเหลืองซีดเหมือนคนอมโรค ร่างกายผอมเกร็ง หรือบางทีก็เตี้ยผิดปกติ ตรงนี้แหละครับที่เคยมีบางท่านได้คิดวิธีเอาฮอร์โมน GH.เทียมมาใช้ทดแทน GH. ของมนุษย์ซึ่งก็ไม่ได้ผลดังที่ได้เล่ามาแล้ว


แต่สำหรับหลายคนที่เจริญเติบโตตามปกติ จนกระทั่งร่างกายเจริญเต็มที่ไม่สูงไม่โตจนผิดธรรมชาติดังกล่าวแล้ว GH. ก็จะเริ่มหลั่งน้อยลง นั่นก็คือ เมื่ออายุประมาณ 20-25 นี่แหละครับ การหลั่งน้อยลงของ GH. ในอายุขนาดนี้ ถือว่าเป็นอาการปกติของธรรมชาติ


ระยะนี้นี่แหละที่ผมถือว่าเป็นโอกาสทองของทุกคนที่จะต้องเอา 5 เล็กตัวสุดท้าย คือ “การออกกำลังกาย” มาเป็นยาวิเศษที่จะช่วยชุบชีวิตของคุณต่อไปในอนาคต หมายถึงโอกาสทองสำหรับชีวิตที่ดีสดสวยสุขภาพสมบูรณ์ตั้งแต่ตอนหนุ่มสาวเจริญเต็มที่ไปจนกระทั่งตอนแก่และตอนตาย


การออกกำลังกายอย่างเต็มที่ระยะนี้ จะทำให้คุณแข็งแรงสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจไม่แก่ไปจนตลอดชีวิต


โดยเหตุนี้หลักการ 5 เล็ก ข้อสุดท้าย คือ “การออกกำลังกาย” นั้น จึงต้องทำหรือว่าที่จริงคุณพ่อคุณแม่ของลูกๆ จะต้องวางแผนหรือฝึกการออกกำลังกายให้กับลูกๆมาตั้งแต่เล็กๆทีเดียว


แล้วยังไงต่อละครับ หลายท่านอาจจะยกมือสูงประกาศว่า ผมออกกำลังกายมาแต่เล็ก แต่ตอนนี้ต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลามาออกกำลังกายเลย ทำไงดีครับ


ไม่เป็นไรครับ ใจเย็นๆ ไม่ต้องมาถามผมหรอกว่า ทำไงดี ถามตัวคุณเองเถอะว่า คุณพอใจกับสภาพร่างกายและจิตใจของคุณตอนนี้มากแค่ไหน


1. ลองนั่งตัวตรงๆ ก้มลงมองเท้าของคุณ มองเห็นหัวแม่เท้าไหม ไม่เห็น ทำไมไม่เห็น ก็พุงไขมันเบ้อเร่อห้อยอยู่ที่ท้อง แล้วจะเห็นหัวแม่เท้าได้อย่างไร


2. ลองงอข้อศอกแล้วยกแขนขึ้น จับดูที่ท้องแขนท่อนบน มีอะไรห้อยต่องแต่งออกมา นั่นก็ไขมันอีกใช่ไหม ลองดูเพียง 2 อย่าง แบบง่ายๆอย่างนี้ ถ้าคำตอบว่า “ใช่” ทั้ง 2 ข้อ ก็ต้องดูต่อไปว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ส่องกระจกดู เอ หน้าชักจะกลมๆ คอก็เป็นปล้องๆ และดูเหมือนคอจะสั้นกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน

3. ลองลุกขึ้นยืน ยกขาซอยเท้าสลับกัน 2 ข้าง นับให้ได้ 20 ครั้ง เป็นไง เหนื่อยหายใจหอบ ทำต่อไปไม่ไหว แล้วอายุตอนนี้เท่าไหร่ สามสิบกว่าๆครับ นั่นแหละครับ เช็กตัวเองง่ายๆ 2-3 อย่างเท่านี้ คุณตอบตัวเองได้แล้ว ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองด่วน


ขอเรียนท่านผู้อ่านแฟนๆชีวจิตเกี่ยวกับเรื่องการตรวจอย่างคร่าวๆว่า อ้วนจริงหรือเปล่า อย่างที่เล่าให้ฟังข้างบนนี้นะครับ ดูเหมือนจะเป็นการตรวจแบบสมมติเอาเอง ไม่สมมติเอาแต่ตรวจแบบกันเองอย่างนี้จริงๆ คุณ พ. ที่ตรวจก็เป็นผู้มีน้ำหนักมาก และมีอาการอื่นๆ ซึ่งแสดงว่าป่วยเนื่องมาจากน้ำหนักตัวมากๆเกินไปจริงๆ บังเอิญคุณ พ. คนนี้ มีความสนิทสนมกันเป็นส่วนตัวมาก่อน รู้เบื้องหลังการปฏิบัติตัว และรู้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักเกินของคุณ พ. เป็นอย่างดี


และก็คุณ พ. คนนี้แหละที่อาสาว่าจะไปแก้เรื่องการออกกำลังกายเพื่อลดความอ้วนด้วยตัวเอง แกไปสมัครเป็นสมาชิกห้องยิม แล้วก็ออกกำลังกายหามรุ่งหามค่ำ อยากจะให้น้ำหนักลงเร็วๆ ผลกลับตรงกันข้าม น้ำหนักยิ่งเพิ่มกว่าเดิม ตรงกับเคสต่างๆที่อาจารย์แฮนลี่และอาจารย์คล้าซ์ได้ศึกษามาหลายเคสไม่มีผิด คือ ยิ่งออกกำลังกายมาก น้ำหนักยิ่งเพิ่มขึ้น แทนที่จะลดลง


ผมจึงต้องแก้การน้ำหนักยิ่งเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลงของคุณ พ. ด่วน ต้องใช้การแก้ด้วยอาหารที่มีฮอร์โมน และใช้การระงับอารมณ์ช่วยให้จิตใจและร่างกายผ่อนคลายด้วยวิธี กดจุด การผ่อนคลาย RELAXATION และ VISUALIZATION หรือ การทำสมาธิแบบง่ายๆ (จะอธิบายละเอียดทีหลัง)

ขอพูดเรื่องฮอร์โมนที่ค้างไว้ก่อน ตามหลักเมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ GH. จะลดลงดังได้อธิบายแล้ว เมื่อ GH. ลดลง ระบบต่างๆในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความสดใสทางผิวหนัง กระแสเลือดและพลังจะลดลง

เมื่อ GH. ลดลง จากการทำงานของต่อมพิทูทารีลดการขับ GH. ให้น้อยลง ระบบของร่างกายก็จะเริ่มหาพลังมาทดแทนพลังจาก GH.เมื่ออายุเริ่มเข้าเขต 40 ต่อมหมวกไตหรือ ADRENAL จะขับฮอร์โมนคอร์ติโซลออกมามากขึ้นเพื่อสร้างพลังทดแทน


พลังจากฮอร์โมนคอร์ติโซลนี้มีแรงมากนะครับ และจะมีลักษณะออกไปในทางก้าวร้าวมากด้วย ฉะนั้น เมื่อต่อมหมวกไตขับฮอร์โมนนี้ออกมามากเกินไป เจ้าของร่างกายก็จะมีแรงมาก แต่ออกไปในลักษณะดุดัน บางคนดุมาก โมโหมาก พอถูกขัดใจมากๆ ก็ลืมตัว ออกแรงแบบดุดันถึงขนาดฆ่าคนได้ก็มีรายงานมาหลายรายแล้ว

เมื่อมีพลังดุดันมากเช่นนี้ ร่างกายก็มีระบบแก้ไขสร้างพลังถ่วงขึ้นมา เมื่อมีคอร์ติโซลมาก ต่อมอดรีนัลด์เลยสร้างฮอร์โมน DHEA ขึ้นมาเป็นตัวถ่วง เหมือนกับรถยนต์ที่มีคันเร่งวิ่งได้เร็วก็ต้องมีเบรกเป็นของคู่กันกับคันเร่ง มิฉะนั้นรถก็พัง คนขับก็ตาย


ทีนี้ตามหลักวิชาเกี่ยวกับฮอร์โมนนะครับ ถ้ามีฮอร์โมนคอร์ติโซลมาก จะเป็นตัวเพิ่มไขมันในตัวเพิ่มมากเป็นเงาตามตัว ฉะนั้น คนที่ออกกำลังกายมาก คอร์ติโซลก็หลั่งออกมามาก น้ำหนักตัวแทนที่จะลดก็กลับเพิ่มมากขึ้น อยากจะลดน้ำหนักผลลัพธ์จึงออกมาในทางตรงกันข้าม


เอาเรื่องอาหารมาช่วยแก้ ก็ต้องระวังอาหารประเภทเนื้อ หมู ไก่ ให้มากขึ้น เพราะอาหารเหล่านี้มีแอมมิโน แอซิดส์ ซึ่งจะช่วยสร้างคอร์ติโซลให้มากขึ้น ออกกำลังกายแทนที่จะลดความอ้วน น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้น


และในขณะเดียวกันต้องกินโปรตีนชนิดที่จะช่วยสร้าง DHEA เพราะจะเป็นตัวถ่วงไม่ให้คอร์ติโซลมีมากจนเกินไป อาหารสร้าง DHEA ได้แก่โปรตีนจากพืช คือ พวกถั่ว และพวกปลาทะเล.


▼สาทิส อินทรกำแหง


▲http://www.thairath.co.th/column/life/chewajit/197303